บ่อยครั้งที่เราพบว่าเด็กๆ มักจะดื้อกับคุณพ่อคุณแม่ ทั้งที่ความจริงแล้วพวกเขาแค่อยากให้พ่อและแม่ของเขา มองเห็น เข้าใจ และยอมรับความรู้สึกของเขาเท่านั้น 4 เทคนิคที่จะช่วยให้คุณฟังลูกของคุณอย่างเข้าใจ มีดังนี้
1. หยุดทำทุกสิ่งทุกอย่าง เวลาที่ลูกของคุณเจอเหตุการณ์บางอย่างและต้องการเล่าให้คุณฟัง คุณจะต้องหยุดทำทุกสิ่งทุกอย่างและหันมาฟังเขาอย่างตั้งใจ หากคุณทำอย่างนี้ลูกของคุณจะไม่แสดงท่าทางงอแงกับคุณ ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณทำกับข้าวไปคุยกับลูกไป หรือดูทีวีไปคุยกับลูกไป ลูกจะรู้สึกว่าคุณให้ความสำคัญกับเขาไม่พอ เขาจะยิ่งกวนและงอแงมากขึ้น
2. แค่พูดทวนคำก็พอ ถ้าคุณไม่รู้ว่าการฟังให้ได้ยินถึงความรู้สึกจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร คุณก็แค่พูดทวนสิ่งที่ลูกพูด แล้วเติมคำว่า ‘ซินะ’ ลงไป เช่น ลูกบอกกับคุณว่า “ผมอยากกินน้ำเย็นมากเลย แต่พ่อไม่ให้กิน เพราะผมยังมีไข้อยู่” คุณไม้จำเป็นต้องอธิบายซ้ำว่าเพราะอะไรลูกถึงกินน้ำเย็นไม่ได้ ลูกของคุณรู้เหตุผลอยู่แล้ว เขาแค่ต้องการให้คุณเข้าใจความรู้สึกของเขา เพราะฉะนั้นแค่คุณก็ควรว่า “ลูกคงจะอยากกินน้ำเย็นมากๆ เลยซินะ” ลูกของคุณก็จะรู้แล้วว่าคุณได้ยินในสิ่งที่เขาพูดจริงๆ เขาจะไม่โวยวาย งอแง หรือกระฟัดกระเฟี้ยดเดินหนีคุณ
3. เอ่ยชื่อความรู้สึกของลูก การเอ่ยชื่อความรู้สึกของลูกออกมา ทำให้เด็กกล้าที่จะยอมรับและทำความรู้จักกับความรู้สึกของตัวเอง กระทั่งเด็กสามารถพัฒนาความสามารถในการใช้เหตุผลควบคุมอารมณ์ขึ้นมาได้ในที่สุด เช่น ลูกของคุณพูดว่า “วันนี้น้องแอนดึงผมหนู หนูอยากจะจับยัยน้องแอนนั่นสับเป็นหมื่นๆ ชิ้นเลย” ให้คุณพูดออกไปว่า “หนูคงจะโกรธมากซินะ” คำว่า ‘โกรธ’ คือการเอ่ยชื่อความรู้สึกของลูก
4. ให้ลูกสมหวังในจินตนาการ เวลาที่เด็กอยากได้อะไรแล้ว พ่อแม่ไม่สามารถให้เขาได้ เขาก็จะร้องไห้งอแง ดังนั้นถ้าคุณให้เขาไม่ได้ในโลกจริง ก็ให้เขาสมหวังในจินตนาการเสียซิ เขาจะได้ไม่งอแงอีกต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ลูกของคุณเห็นตุ๊กตาช้างสีฟ้าของคนอื่น จึงหันมาบอกคุณว่า “หนูจะเอาตุ๊กตาสีฟ้าตัวนั้น” คุณก็แค่บอกว่า “มันสวยมากเลยเนอะ แม่ก็อยากมีตุ๊กตาแบบนั้นเหมือนกัน ถ้าแม่มีนะ แม่จะเอามาขี่แล้วก็วิ่งๆๆๆๆ ไปเลย แล้วหนูล่ะ หนูจะเอามันมาขี่ไหม” จากนั้นเด็กก็จะเล่าว่าเขาจะทำอะไรกับตุ๊กตาตัวนั้นบ้าง นี่คือการทำให้เด็กสมหวังในจินตนาการ
เทคนิคทั้ง 4 ข้อนี้ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูกได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญ 4 เทคนิคนี้ลดความงอแงของเด็กลงได้ด้วยนะคะ ลองนำไปใช้ดูค่ะ